บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก
บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก
ขอบคุณเครดิต วีดีโอจาก เรียนภาษาไทยสไตล์ครูสาว ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=b-G5nd3fM48
มาตรฐาน/ตัวชี้วัด
มาตรฐานการเรียนรู้ /ตัวชี้วัด/ผลการเรียนรู้
ท 5.1 เข้าใจและแสดงความคิดเห็น วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่าและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
ตัวชี้วัด
ท 5.1 ม.3/1 สรุปเนื้อหาวรรณคดี วรรณกรรม และ
วรรณกรรมท้องถิ่นในระดับที่ยากยิ่งขึ้น
ท 5.1 ม.3/2 วิเคราะห์วิถีไทยและคุณค่าจากวรรณคดีและวรรณกรรมที่อ่าน
ท 5.1 ม.3/3 สรุปความรู้และข้อคิดเห็นจาก
การอ่านเพื่อนำไปประยุกต์ในชีวิตจริง
แนวคิด
บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบทละครพูดขนาดสั้นที่แสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของบุพการีที่มีต่อบุตร อันเป็นคุณธรรมที่เป็นสากลซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์
สาระการเรียนรู้
ผู้แต่ง : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นามแฝงว่าพระขรรค์เพชร พระองค์ทรงผูกเรื่องและทรงเรียบเรียงเอง
รูปแบบ : เรื่องเห็นแก่ลูกแต่งเป็นบทละครพูด เป็นเรื่องขนาดสั้น มี 1 องค์
ลักษณะการแต่ง
รัชกาลที่6 ทรงผูกเรื่องอย่างรัดกุมและดำเนินเรื่องโดยใช้บทสนทนาของตัวละครโต้ตอบกัน ทำให้ทราบเรื่องราวที่ดำเนินไป และทราบเบื้องหลังของตัวละครแต่ละตัว นอกจากนี้ ยังทรงบรรยายกริยาท่าทางของตัวละครแต่ละตัวไว้ในวงเล็บ เพื่อช่วยให้นักแสดง แสดงตามบทได้สะดวกและสมบทบาทยิ่งขึ้น ภาษาที่ใช้ในบทละครนี้ ใช้คำพูดง่ายๆแต่ให้ความหมายคมคายลึกซึ้ง แม้ว่าบางคำที่มีใช้ในอดีตสมัย 80-90ปีก่อนแต่ไม่มีใช้ในปัจจุบัน ผู้อ่านก็ยังพอเดาความหมายได้
ประวัติผู้แต่ง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2423 เมื่อ พระชนมายุ 8 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรม ขุนเทพทวาราวดี และต่อมาทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร แทนสมเด็จพระบรมเชษฐา เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งสวรรคต และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักปราชญ์ (ทรงได้รับการถวายพระ ราชสมัญญาว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) และทรงเป็นจินตกวีที่ทรงเชี่ยวชาญทาง ด้านอักษรศาสตร์โบราณคดี มีพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วร้อยกรองทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มากกว่า 200 เรื่อง ทรงใช้นามแฝงต่างๆกัน เช่น อัศวพาหุ รามจิตติ ศรีอยุธยา พันแหลม นายแก้วนายขวัญ ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา
เรื่องย่อ
นายล้ำไปหาพระยาภักดีนฤนาถที่บ้าน แต่ขณะนั้นพระยาภักดีนฤนาถยังไม่กลับจากที่ทำงาน นายล้ำจึงได้เจอกับ ‘อ้ายคำ’ คนใช้ของบ้านพระยาภักดีนฤนาถ นายล้ำตัดสินใจนั่งรอจนกว่าพระยาภักดีนฤนาถจะกลับ อ้ายคำก็เฝ้านายล้ำอยู่ไม่ไปไหน เพราะการแต่งกายและลักษณะหน้าตาของนายล้ำนั้นดูไม่น่าไว้ใจ อ้ายคำก็กลัวว่าจะเป็นโจร
จนกระทั่งพระยาภักดีนฤนาถกลับมาถึงบ้าน นายล้ำจึงกล่าวทักทายพระยาภักดีนฤนาถ แต่ด้วยความที่ไม่ได้พบกันนานและนายล้ำก็เปลี่ยนไปมาก พระยาภักดีนฤนาถจึงต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะจำนายล้ำได้ จากนั้นทั้งสองจึงพูดคุยถามไถ่ความเป็นอยู่กันและกัน
นายล้ำเล่าถึงชีวิตของตนหลังออกจากคุกจนต้องหนีไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเพราะไม่กล้าสู้หน้าใคร นายล้ำต้องการงานใหม่ที่สบายและได้ผลกำไรดี ในช่วงแรกนายล้ำพยายามหางานตำแหน่งเสมียนบาญชี (พนักงานบัญชี) แต่ก็ไม่มีใครรับ นายล้ำจึงหันไปทำการค้าขายฝิ่นกับจีนกิมและจีนเง็ก เกือบโดนจับแต่ก็รอดมาได้เพราะได้หมอความ (ทนายความ) ฝีมือดีช่วยแก้ต่างให้
พระยาภักดีนฤนาถจึงถามนายล้ำว่าที่มาหาถึงบ้านนั้นต้องการอะไร นายล้ำที่หมดหนทางทำกิน และได้ข่าวว่าแม่ลออ ลูกสาวแท้ ๆ ของตนกำลังจะแต่งงานกับลูกเศรษฐี จึงตั้งใจมาหาแม่ลออเพื่อเปิดเผยความจริงว่าตนเป็นพ่อและหวังให้แม่ลออเลี้ยงดู แต่พระยาภักดีนฤนาถก็ไม่เต็มใจให้นายล้ำพบกับแม่ลออ เกิดการโต้เถียงกันขึ้นมาใหญ่โต นายล้ำตัดพ้อว่าตนไม่ใช่ผู้เดียวที่เคยทำผิดพลาด พร้อมประชดว่าพระยาภักดีนฤนาถไม่เคยติดคุก คงไม่เข้าใจความลำบากนี้ คนที่เคยมีประวัติไม่ดี ทำดีไปก็ไม่มีใครสนใจ สู้ประพฤติชั่วไปเลยยังจะดีเสียกว่า พร้อมบอกว่าอยากเห็นหน้าแม่ลออ และต้องการมาช่วยงานแต่งงานที่จะถึงนี้ด้วย แต่พระยาภักดีนฤนาถไม่อยากให้แม่ลออมาคบค้าสมาคมกับคนมีมลทินอย่างนายล้ำ พร้อมโต้กลับไปว่าแม่ลออนั้นใช่ลูกของนายล้ำจริง ๆ หรือ เพราะนายล้ำเองก็ติดคุก ไม่ได้เลี้ยงดูแม่ลออตั้งแต่ยังเล็ก แม่ลออเองก็เคยเห็นนายล้ำแค่ในรูปถ่าย และก่อนแม่นวล (เมียของนายล้ำ ซึ่งเป็นแม่ของแม่ลออ) จะตาย แม่นวลก็ฝากฝังแม่ลออไว้กับพระยาภักดีนฤนาถ พระยาภักดีนฤนาถเองก็รักและเลี้ยงดูแม่ลออเหมือนลูกแท้ ๆ มาตลอด และบอกว่าพ่อที่แท้จริงของแม่ลออนั้นเสียชีวิตไปแล้ว นายล้ำรู้ตัวว่าตนบกพร่องในหน้าที่ของพ่อจึงอยากจะขอโอกาสอีกครั้ง แต่พระยาภักดีนฤนาถก็เห็นว่าสายไปเสียแล้ว และรู้ทันว่านายล้ำต้องการเงิน พระยาภักดีนฤนาถจึงเสนอเงินให้นายล้ำพร้อมขอให้กลับไปเสีย แต่นายล้ำก็ไม่ยอมเพราะเห็นว่าเงินนี้ใช้เดี๋ยวเดียวก็หมด ไม่ยั่งยืนเท่าการอยู่ให้แม่ลออเลี้ยงดูปูเสื่อ พระยาภักดีนฤนาถจึงเริ่มโกรธจึงไล่นายล้ำให้ออกจากบ้านไปซะ ยิ่งนายล้ำหัวเราะเยาะก็ยิ่งยั่วให้พระยาภักดีนฤนาถโมโหจนหยิบแส้มาไล่ฟาดนายล้ำ
ขณะที่เหตุการณ์กำลังวุ่นวาย แม่ลออก็กลับมาถึงบ้านพอดี เมื่อเห็นคนแปลกหน้าอยู่ในบ้าน แม่ลออจึงถามพระยาภักดีนฤนาถว่านายล้ำเป็นใคร พระยาภักดีนฤนาถจึงตอบว่านายล้ำเป็นเพื่อนเก่า เคยเห็นแม่ลออตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และรู้จักแม่นวลเป็นอย่างดี เมื่อได้ยินดังนั้นแม่ลออจึงสอบถามนายล้ำว่ารู้จักพ่อของตนที่ตายไปแล้วบ้างไหม พ่อของตนมีมีนิสัยใจคออย่างไร เพราะตนเองเคยเห็นพ่อแต่ในรูปถ่าย และมั่นใจว่าพ่อของตนจะต้องเป็นคนดีแน่นอน หากใครบอกว่าพ่อของตนเป็นคนไม่ดีนั้นก็คงไม่เชื่อเด็ดขาด
นายล้ำได้ยินดังนั้นก็รู้สึกละอายใจและไม่อยากลบภาพพ่อในอุดมคติที่แม่ลออคิดไว้ จึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงกับแม่ลออ เพื่ออนาคตที่ดีของแม่ลออ นายล้ำคิดว่าตนควรเดินออกจากชีวิตของลูกไปคงจะดีกว่า ดังนั้นเมื่อแม่ลออชวนนายล้ำมารดน้ำสังข์ในงานแต่งของตน นายล้ำจึงปฏิเสธว่าต้องไปทำธุระที่พิษณุโลก แต่ได้ฝากแหวนของแม่นวลไว้เพื่อเป็นของรับไหว้ในวันแต่งงานของแม่ลออ และกำชับกับพระยาภักดีนฤนาถว่าอย่าบอกความจริงกับแม่ลออเป็นอันขาดว่าตนเป็นพ่อ และด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนเก่า ก่อนจากกัน พระยาภักดีนฤนาถจึงมอบเงินให้นายล้ำไปตั้งตัวใหม่ พร้อมมอบรูปของแม่ลออไว้ให้นายล้ำดูต่างหน้า
วิเคราะห์ตัวละคร
นายล้ำคือพ่อที่แท้จริงของแม่ลออ ในอดีตนายล้ำเคยรับราชการมีราชทินนามว่า ‘ทิพเดชะ’ แต่เนื่องจากถูกจับได้ว่าทุจริตนายล้ำจึงต้องโทษจำคุก และเมื่อพ้นโทษก็ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ปัจจุบันนายล้ำจึงเป็นชายวัยกลางคน อายุราว ๔๐ ปี หน้าตาทรุดโทรมและการแต่งกายซอมซ่อเนื่องจากติดสุราหนักและฐานะไม่ค่อยจะดีนัก
นิสัยตัวละคร
๑. ความเห็นแก่ตัว ทั้งตอนค้าฝิ่นที่โยนความผิดให้จีนกิมจีนเง็ก และเมื่อหมดทางหากินก็หวังจะมีชีวิตที่สุขสบายด้วยการให้แม่ลออเลี้ยงดู
๒. ความเสียสละเพื่อลูก แม้จะไม่ได้เลี้ยงดูแม่ลออมาตั้งแต่เด็ก แต่นายล้ำก็ยังมีความรู้สึก ‘เห็นแก่ลูก’ อยู่ เพราะเมื่อสำนึกได้ นายล้ำก็ยอมเสียสละและทิ้งหนทางสบายเพื่อให้ลูกได้มีอนาคตที่ดี
๓. รักความสบาย นายล้ำรักความสบาย ชอบทางลัด และเลือกทำงานที่ได้เงินเร็วทั้งการทุจริตและการค้าฝิ่น และเมื่อหมดหนทางทำมาหากิน นายล้ำก็ยังหวังว่าแม่ลออจะเลี้ยงดูตน
๔. ฉลาดแกมโกง ความรักสบายของนายล้ำทำให้เลือกทำงานไม่สุจริต และเมื่อตอนค้าฝิ่นก็เกือบจะโดนจับได้ แต่นายล้ำก็รอดมาได้ด้วยความฉลาดแกมโกง โยนความผิดให้จีนกิมจีนเง็กจนตัวเองพ้นผิดไปได้
พระยาภักดีนฤนาถ
พระะยาภักดีนฤนาถเป็นเกลอ (เพื่อน) เก่าของนายล้ำตั้งแต่สมัยที่รับราชการอยู่ด้วยกัน ปัจจุบันพระยาภักดีนฤนาถก็ยังรับราชการอยู่และได้เป็นใหญ่เป็นโต นอกจากนี้พระยาภักดีนฤนาถยังเป็น ‘พ่อบุญธรรม’ ของแม่ลออ บุตรของนายล้ำอีกด้วย
นิสัยตัวละคร
๑. มีความเมตตากรุณา
พระยาภักดีนฤนาถมีความเมตตากรุณา และเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน จะเห็นได้จากความเมตตาที่เลี้ยงแม่ลออจนเติบใหญ่ รวมถึงความเมตตาที่มีต่อนายล้ำ ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนให้เพื่อนเก่าได้โอกาสตั้งตัวใหม่
๒. มีจิตวิญญาณของความเป็นพ่อและปรารถนาจะให้แม่ลออมีอนาคตที่ดี
๓. เป็นคนที่มีวาจาสัตย์ เมื่อรับปากแม่นวลไว้ว่าจะเลี้ยงแม่ลออให้ดี ก็ทำได้ตามที่รับปาก
แม่ลออเป็นหญิงสาวอายุ ๑๗ ปี มีกิริยามารยาทที่เพียบพร้อม เป็นบุตรของนายล้ำและแม่นวล แต่นายล้ำทิ้งแม่ลออไปตั้งแต่ ๒ ขวบและไม่เคยได้เลี้ยงดูแม่ลออในฐานะพ่อเลย ปัจจุบันแม่ลออกำลังจะแต่งงานกับนายทองคำ ลูกชายของเจ้าคุณรณชิตซึ่งเป็นเศรษฐี
นิสัยตัวละคร
๑. มีกิริยามารยาทงดงาม รู้จักกาลเทศะ สะท้อนถึงการเลี้ยงดูของพระยาภักดีนฤนาถที่ใส่ใจและอบรมสั่งสอนบุตรเป็นอย่างดี
๒. เป็นคนมองโลกในแง่ดี แม้จะไม่รู้จักนิสัยใจคอของพ่อที่แท้จริง แต่แม่ลออก็คิดว่าพ่อของตนเป็นคนดีไว้ก่อน
๓. พูดจาสุภาพอ่อนหวาน เคารพผู้หลักผู้ใหญ่
คนใช้ของบ้านพระยาภักดีนฤนาถ เป็นคนซื่อสัตย์ รู้หน้าที่ และไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ
นิสัยตัวละคร
1. เป็นคนซื่อสัตย์และรู้หน้าที่ ตั้งใจทำงานและเมื่อครั้งที่นายล้ำมาบ้าน ก็คอยต้อนรับ
2.ไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ เมื่อครั้งที่นายล้ำมาหาพระยาภักดี อ้ายคำเป็นผู้ต้อนรับ และเห็นว่าเป็นคนแปลกหน้าเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จึงไม่ไว้ใจยืนเฝ้า จนกว่าพระยาภักดีจะกลับมา
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
๑. บุพการีพร้อมจะเสียสละเพื่อลูก ทั้งนายล้ำที่แม้จะทำหน้าที่ของพ่อไม่สมบูรณ์ และไม่ได้เลี้ยงดูแม่ลออจนเติบใหญ่ แต่นายล้ำก็รักลูกมาก จึงเลือกเสียสละเดินออกมาจากชีวิตของแม่ลออเพื่อให้ลูกสาวของตนมีอนาคตที่สดใส
๒. ไม่มีความรักใดยิ่งใหญ่เท่าความรักที่บุพการีมีต่อบุตร ทั้งนายล้ำที่เป็นพ่อที่แท้จริงและพระยาภักดีนฤนาถที่เป็นพ่อบุญธรรม ต่างก็ปรารถนาดีต่อแม่ลออและอยากให้แม่ลออมีอนาคตที่สดใส
๓. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทั้งพระยาภักดีที่รับปากแม่นวลไว้ว่าจะดูแลแม่ลออ จึงเลี้ยงแม่ลอออย่างดีประหนึ่งลูกแท้ ๆ และอ้ายคำที่ปฏิบัติหน้าที่ของคนใช้เป็นอย่างดี นั่งเฝ้านายล้ำตลอดไม่ยอมลุกไปไหนก็ถือว่าเป็นการรับผิดชอบต่อหน้าที่เช่นเดียวกัน
๔. ความซื่อสัตย์สุจริตทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ส่วนความโลภมากและการทุจริตจะทำให้ชีวิตเจอแต่ความยากลำบาก เหมือนกับพระยาภักดีนฤนาถที่ตั้งใจรับราชการอย่างสุจริตจนได้เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงาน กลับกันกับนายล้ำที่ทุจริตจนต้องโทษอยู่หลายปี และเมื่อพ้นโทษและอยากเริ่มต้นใหม่ก็พบแต่เรื่องที่ยากลำบาก
๕. การให้โอกาสต่อผู้ที่สำนึกผิด ในท้ายที่สุด เมื่อนายล้ำสำนึกผิดจริง ๆ พระยาภักดีนฤนาถก็ให้โอกาสและสนับสนุนให้นายล้ำได้ตั้งตัวใหม่อีกครั้ง
คำศัพท์จากเรื่อง
คำศัพท์จากเรื่อง
เกล้าผม เกล้ากระผม เป็นคำที่ใช้ตัวพูดผู้ชาย
ขยาย เปิดเผย
ฉาย ถ่ายภาพ
ตกรก ตกนรก
ปอน ซอมซ่อ ขัดสน
ระหาย กระหาย
หมดความ ทนายความ
เสมียนบาญชี พนักงานบัญชี
อาญาจักร โทษ
อินัง เอาใจใส่ เหลียวแล
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง จาก หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย 3 เล่ม 2 บริษัทสำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด
กลุ่มสาระภาษาไทย ตาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
🎯 ถัดไป